Friday, February 15, 2008




1. การทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึก
น้ำตาลสดและน้ำตาลปึกมีทำที่บ้านเกยไชย ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง มีต้นตาลโตนดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงได้เริ่มหันมายึดอาชีพทำน้ำตาลสด และทำน้ำตาลปึกจำหน่ายเสริมรายได้จากอาชีพทำไร่ทำนา ทำให้มีรายได้ดีขึ้น และยึดเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านที่จัดทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึกของตำบลเกยไชย คือหมู่ที่ 4 , 6 , 7 , 9 , 13 ที่ทำกันมานานมาก และทำสืบทอดมาจากบรรพบุรุษคือ หมู่ที่ 6 โดยเฉพาะบ้านของนายสุเทพ พลไพรินทร์ ซึ่งภรรยาทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มจำหน่ายน้ำตาลสด และน้ำตาลปึกของตำบลสร้างผลงานดีเด่น จนได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจาก ฯพณฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2541 ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล
ขั้นตอนการทำ
1. การเตรียมอุปกรณ์

1.1 ไม้พะองตาล ใช้ไม้ไผ่ป่ามาพาดกับต้นตาล ต้นตาล 1 ต้น จะใช้ไม้พะอง 2 อัน โดยมัดติดกับต้นตาล สำหรับปีนขึ้นต้นตาลได้ง่าย
1.2 ไม้นวดจะมี 2 แบบ คือ ไม้นวดตัวเมียและไม้นวดตัวผู้ ไม้นวดตัวเมียจะกลมยาวประมาณ 1.50 เมตร ใช้สำหรับนวดงวงตาลตัวเมีย ไม้นวดตัวผู้จะแบนยาวประมาณ 1 เมตร ใช้สำหรับนวดตาลตัวผู้ โดยชาวบ้านมีข้อห้ามเกี่ยวกับไม้นวดตาลว่า ห้ามข้ามไม้นวดทั้ง 2 แบบ เพราะจะทำให้ประสบอันตราย และมีอันเป็นไปได้
1.3 มีดปาดตาล ใช้สำหรับปาดงวงตาลและดอกตาล จะมีความคมมาก
1.4 กระบอกตาล ใช้สำหรับรองรับน้ำตาลจากงวงตาลและดอกตาล เพื่อให้ได้น้ำตาลจากยอดตาลมาทำต่อไป
1.5 เตารมกระบอก ใช้สำหรับรมไฟให้ความร้อนกระบอกตาลก่อนที่จะนำกระบอกตาลไปรองรับน้ำตาลสดจากยอดตาล เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในน้ำตาล
1.6 เตาเคี่ยวน้ำตาล ใช้สำหรับเคี่ยวน้ำตาลให้เหนีย
1.7 กระทะ ใช้กระทะใบบัวใหญ่เพื่อเคี่ยวน้ำตาล ครั้งหนึ่งจะเคี่ยวได้ประมาณ 50 กิโลกรัม
1.8 ไม้คน สำหรับคนน้ำตาลที่เคี่ยวได้ที่แล้ว หลังจากลงจากเตาเพื่อให้เกิดความเหนียวของน้ำตาล
1.9 กระชอนกรองน้ำตาลใช้สำหรับกรองเศษผงที่อาจติดมากับน้ำตาลสด
1.10 ไม้แป้น ใช้สำหรับหยอดน้ำตาลลงในเบ้าที่เตรียมไว้
1.11 กะลาหยอดน้ำตาล ใช้สำหรับตัดน้ำตาลที่เคี่ยวแล้วหยอดในเบ้า
1.12 พิมพ์หยอดน้ำตาล สำหรับหยอดน้ำตาลลงในพิมพ์หรือเบ้า เพื่อให้ได้น้ำตาลปึกตามที่ต้องการและเก็บรักษาไว้ได้นาน ๆ เบ้าน้ำตาลปึกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ลึก 1 นิ้ว เบ้า 1 แผ่น สามารถหยอดน้ำตาลได้ 40 อัน
2. วัตถุดิบ
ใช้น้ำตาลสดที่รองจากงวงตาลล้วน ๆ เคี่ยวเท่านั้น โดยไม่มีส่วนผสมอย่างอื่น จึงจะได้น้ำตาลสดที่แท้จริง
3. วิธีการผลิต
3.1 วิธีการนวดงวงตาล
การนวดงวงตาลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราจะทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลออกมามากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับการนวดงวงตาล ในช่วงฤดูที่ตาลชุก จะมีน้ำตาลออกมามาก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายนของทุกปี หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ตาลทะวาย คือน้ำตาลจะออกมาน้อย การนวดงวงตาลทำโดยใช้ไม้นวดไปบีบที่รอบงวง โดยนวดครั้งแรกจะใช้เวลา 2 วัน แล้วจะหยุด 1 วัน แล้วนวดต่ออีก 2 วัน แล้วนวดต่ออีก 2 วัน พอถึงวันที่ 6 จะนำน้ำไปแช่ที่ดอกตาลเพื่อให้ดอกเน่า โดยจะแช่ 2 วัน บางครั้งไม่ต้องแช่ดอกตาลก็ได้ ซึ่งเรียกว่า นวดสด นวดแล้วเอามีดไปปาดปลายงวงบาง ๆ เพื่อให้น้ำตาลหยด แล้วเอากระบอกขึ้นไปรองน้ำตาล ในแต่ละวันจะสับเปลี่ยนกระบอก โดยจะเก็บน้ำตาลและสับเปลี่ยนกระบอกในตอนเช้าและตอนเย็น
3.2 การผลิตน้ำตาลสดจะนำกระบอกที่รมไฟไว้แล้วประมาณ 10 นาที ส่วนมากจะจัดเตรียมไว้ 2 ชุด คือ ชุดเช้าและชุดเย็น โดยก่อนขึ้นต้นตาลที่นวดไว้แล้ว กระบอกตาลจะต้องใส่แก่นตะเคียนลงไปตามสมควร แล้วจึงนำขึ้นไปแขวนไว้บนยอดต้นตาล
การเก็บน้ำตาลจะเก็บตอนเช้าและตอนเย็น
เมื่อได้น้ำตาลมาแล้วจะเคี่ยวให้งวดเป็นน้ำตาลปึก
3.3 เมื่อได้น้ำตาลสดมาแล้วจะเทใส่ลงในกระทะที่เตรียมไว้ แล้วจุดไฟเคี่ยวน้ำตาลประมาณ 30 –45 นาที แล้วจึงนำลงมาพักไว้ในบริเวณที่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อรอให้น้ำตาลนอนตัว และให้เย็น แล้วนำน้ำตาลมากรองด้วยผ้าขาวบาง นำไปบรรจุในขวดพลาสติกหรือถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป
3.4 การผลิตน้ำตาลปึก จะใช้วิธีการผลิตเหมือนการผลิตน้ำตาลสด โดยหลังจากเคี่ยวน้ำตาลสดไปแล้ว ประมาณ 30 – 45 นาที แล้วก็เคี่ยวน้ำตาลต่อไปอีกประมาณ 30 – 40 นาที รวมแล้วการเคี่ยวน้ำตาลปึก 1 กระทะ จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยดูได้จากน้ำตาลในกระทะจะงวดลง และจะมีความเหนียวในตัวเองแล้วจึงยกกระทะมาที่อุปกรณ์ไม้คน เพื่อทำการคนน้ำตาลในกระทะต่อ โดยใช้ไฟอ่อน ๆ คนไปจนกว่าน้ำตาลเริ่มแห้งและเหนียวก็ยกเอาน้ำตาลมาหยอดที่แป้นหยอดน้ำตาลตามเบ้า โดยจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงแกะน้ำตาลปึกออก รอให้เย็นจึงบรรจุลงในถุงหรือกล่อง ๆ ละ 20 กิโลกรัม แล้วทำการจำหน่ายต่อไป ในแต่ละปีผู้ที่มีอาชีพการทำน้ำตาลสดจำหน่าย จะมีพิธีไหว้ครูดงตาลเพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ โดยจะทำพิธีกันในช่วงเดือน 5 ถึงเดือน 9 โดยจะไหว้ในวันพฤหัสบดี อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีไหว้ครู เช่น หัวหมู ไก่ เหล้า ขนมต้มขาว – แดง ขนมปลากริมขาวแดง บายศรีปากชาม ข้าว ดอกไม้ ธูปเทียน ไข่เป็ดต้ม ข้าวปากหม้อ และจะนำเครื่องมือทุกชนิดมากองรวมกันไว้ แล้วจึงจัดทำพิธีไหว้ จะไหว้ที่บ้าน หรือที่ดงตาลก็ได้ ซึ่งถือเป็นการแก้บน และเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อการประกอบอาชีพทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึกนั่นเอง

2.ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำน้ำอ้อย

ภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำน้ำอ้อย

น้ำอ้อยเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ทำจากอ้อยโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนักอำเภอพร้าวเป็นพื้นที่แห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกษตรกร ประกอบอาชีพ ทำน้ำอ้อยเป็นอาชีพ เสริมหลังการทำนาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว เป็นอาชีพที่ทำกันมานานโดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่เครื่องมือและอุปกรณ์การพัฒนาลี่แปลงไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในสมัยก่อนใช้แรงงานสัตว์ช่วยในการหีบอ้อย เปลี่ยนเป็นใช้เครื่องยนต์แทน จากที่เคยปลูกอ้อยพันธุ์พื้นเมืองก็เปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม และทำเป็นก้อน น้ำอ้อยสมัยก่อนจะใช้วิธีตักหยอดที่ละก้อน ปัจจุบันก็ใช้วิธีเทลงบนแบบพิมพ์ ซึ่งทำได้เร็วกว่า และทำเป็นน้ำอ้อยผงตามที่พ่อค้าต้องการ การทำน้ำอ้อยถือได้ว่าเป็นการแปรรูป ผลผลิต ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเกษตรกรเอง การแปรรูปอ้อยจะเริ่มตั้งแต่การปลูกอ้อยครั้งแรกในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน พอครบ 1 ปีก็สามารถตัดอ้อยมาแปรรูปได้ อ้อยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นาน 3-4 ปี จึงจะรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรจะตัดอ้อยให้พอหีบ หมดในแต่ละวันเท่านั้นการหีบอ้อยจะเริ่ม ตั่งแต่เช้ามืด เมื่อหีบเสร็จก็จะเริ่มเคี่ยวทันที โดยเคี่ยวในกะทะขนาดใหญ่ และใช้กากอ้อย ที่หีบเอาน้ำอ้อยออกแล้วไปตากให้แห้ง นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการเคี่ยวน้ำอ้อย ฉะนั้นถ้าฝนตก เกษตรกรก็จะหยุดหีบอ้อยเพราะไม่มีเชื้อเพลิงในการเคี่ยวน้ำอ้อย การทำน้ำอ้อยในอำเภอพร้าวจะมีเฉพาะพื้นที่ 2 ตำบลซึ่งเป็นเขตพื้นที่ติดต่อกัน คือ บ้านห้วยกุ บ้านป่าตุ้ม ตำบลป่าตุ้ม และบ้านสหกรณ์ ตำบลเขื่อนผาก ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ประมาณเดือน ธันวาคม ถึงเดือน มีนาคม ของทุกปี สามารถเข้าไปดูกระบวนการแปรรูปอ้อย ของเกษตรกรได้ ซึ่งมีเหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน

วิธีการทำ
หีบอ้อยแล้วนำน้ำอ้อยไปกรองให้สะอาด แล้วไปเคี้ยวควรเคี้ยวภายในวันนั้น ถ้าทิ้งไว้ข้ามคืน จะทำให้การเคี้ยวให้เป็นน้ำตาลได้ยาก ก่อไฟเตรียมไว้ แล้วตั้งกระทะเตรียมไว้เพื่อใส่น้ำอ้อยโดยการใส่น้ำเปล่าทิ้งไว้ก่อน ควบคุมไฟให้สม่ำเสมอ
นำน้ำอ้อยที่ผ่านการกรองด้วยผ้าขาวบางแล้ว ใส่ลงในกระทะ แล้วใส่น้ำปูนใสขาวประมาณ 1 ทับพีต่อน้ำอ้อย 1 ลิตร เพื่อให้น้ำอ้อยเกิดการแข็งตัวโดยเร็ว เมื่อน้ำอ้อยเริ่มเดือด ทำการซ้อนฟองและสิ่งเจือปนออกให้สะอาด
เมื่อน้ำอ้อยเดือดมากขึ้น นำกระโจมไม้ไผ่มาครอบเพื่อป้องกันน้ำอ้อยล้นกระทะ การใส่ไฟต้องให้สม่ำเสมอที่สุด เมื่อครอบกระโจมแล้ว ถ้ายังเกิดฟองสีคล้ำ ๆ เกิดขึ้นรอบกระโจมด้านนอก ให้ใช้มือซ้อนเล็ก ๆ ที่ทำจากไม้ไผ่ ซ้อนฟองสีคล้ำออก
เมื่อน้ำอ้อยเดือดมากจนกลายเป็นน้ำเชื่อม จะยุบตัวต่ำกว่ากระโจมครอบ แล้วยกกระโจมครอบออกได้ พร้อมกันนั้นให้ใช้มือซ้อน (ไม้ไผ่สาน) ต้องกวนน้ำเชื่อมให้ทั่ว ๆ กระทะถ้าไม่กวน จะทำให้เกิดน้ำเชื่อมไหม้ที่ขอบกระทะ และต้องสังเกตไฟตลอดเวลา เมื่อดูด้วยสายตาเห็นว่าน้ำเชื่อมยุบตัวแล้วจะใช้กวนเป็นน้ำตาลได้หรือยัง โดยให้ใช้ไม้แป้นตักน้ำเชื่อมไปทดสอบโดยการเขย่าในน้ำเย็น ให้น้ำเชื่อมหลุดจากแป้น ถ้าบีบดูแล้วน้ำเชื่อมยังอ่อนตัวอยู่ให้เคี้ยวต่อไปจนกว่าน้ำเชื่อมจะแข็งตัว ทดสอบโดยการปั้นน้ำเชื่อมให้เป็นก้อนแล้วโยนก้อนน้ำเชื่อมให้กระทบขอบอ้างดินเผา จะเกิดเสียงคล้ายของแข็งกระทบกันเป็นอันว่าได้
ระหว่างรอน้ำเชื่อมจะใช้กวนได้หรือไม่ได้นั้นให้เตรียมวงไว้เป็นแถว ๆ ที่วางบนผ้าขาวบาง โดยวงจะต้องแช่น้ำเย็นให้เปียกก่อนใช้เรียง เพื่อความคล้องตัวตอนแคะน้ำตาลออก เมื่อแคะน้ำตาลออกแล้วก่อนใช้วงอีกต้องล้างในน้ำเย็นให้น้ำตาลออกให้หมด จึงจะนำไปใช้หยอดไหม เมื่อน้ำเชื่อมใช้กวนได้แล้ว ให้ใช้มือตักใส่อ้างดินเผา ประมาณขอบอ้าง และใช้ไม้คนในอ้างจนกว่าน้ำเชื่อมจะเป็นน้ำตาล แล้วใช้ไม้แป้นหยอดใสวงที่เตรียมไว้
ยอดน้ำเชื่อมใส่วงแล้วทิ้งไว้ประมาณ 8-10 นาที หรือสังเกตด้วยสายตาหรือสัมผัส เมื่อน้ำตาลแข็งตัวแล้วแคะออกจากวง




วิธีการทำ

การน้ำอ้อยเทใส่กระทะเพื่อเคี่ยว

การต้มน้ำอ้อยเพื่อเคี่ยว

การคนน้ำอ้อยเพื่อไม่ให้ติดกระทะ

พักให้เย็นตัวลง


เทลงแบบแม่พิมพ์เพื่อทำเป็นก้อน


ปาดหน้าให้เรียบ


แกะออกใส่ภาชนะสำหรับจำหน่าย